วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Project 6 :: รดน้ำต้นไม้

ไปเที่ยวมาหลายวัน ปล่อยให้ต้นไม้หลังห้องเฉาไปเยอะเลย ...ไม่รู้เหมือนกันว่าตั้งไว้ผิดที่ผิดทางไปหน่อยหรือเปล่า ช่วงนี้แดดยิ่งแรงๆ ฝนก็ไม่ค่อยจะตกแล้วด้วย ก็เลยหาวิธีทำให้กระถางชุ่มโดยไม่ต้องอยู่เฝ้าห้องตลอดวัน

พอดีเคยได้ยินระบบน้ำหยดมาก่อน เดาว่ามันคงคล้ายๆกระปุกน้ำเกลือ แต่อาจจะไม่ยุ่งยากซับซ้อนปานนั้น เลยเอาของที่ไม่ได้ใช้คือขวดน้ำพลาสติกกับปากกาที่หมึกหมดแล้วมาลองประกอบกันดู



ตอนแรกตัดท้ายทิ้งก่อนครับ ถ้าจะให้สวยก็เอาฉลากข้างขวดออกด้วย เสร็จแล้วใช้คัตเตอร์กรีดฝาขวดให้เป็นรอยทะลุ รอยเล็กๆก็พอครับ ไม่งั้นน้ำจะไหลเร็วเกิน

กรีดแล้วมาลองใส่น้ำดูว่าหยดเร็วไป ช้าไป ประการใด ถ้าเร็วไปก็เอาเทปกาวแปะรูด้านในให้แคบลงหน่อย



ได้เรื่องแล้วก็เอาเทปกาวมาพันปากกากับขวดเข้าด้วยกัน ให้ปลายแหลมของปากกาหันลงพื้นนะครับ เอาไว้ปักกับดินในกระถางต้นไม้ พันๆๆๆจนแน่นดี เป็นอันใช้ได้




วิธีใช้ก็คือเอาไปปักกับดินข้างๆต้นไม้ แล้วเติมน้ำลงไป น้ำก็จะค่อยๆหยดลงที่โคนต้นไม้ นานจนกว่าน้ำจะหมดขวด



จริงๆหาวิธีกำจัดขวดน้ำกับปากกาหมึกหมดมานานแล้วเหมือนกัน คิดว่าจะเอาไปรดน้ำต้นไม้นี่แหละ แต่พอดีที่ผ่านมาต้นไม้ยังงอกงามดีเพราะรดน้ำทุกวัน ก็เลยไม่ได้ลงมือทำสักที ในที่สุดขวดน้ำพลาสติกที่เขาไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ซ้ำก็ยังเอาไปให้ต้นไม้กินน้ำได้เหมือนกันนะ แต่ทางที่ดีหันมาเลิกใช้ขวดพลาสติก พกกระติกน้ำกันดีกว่าครับ

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Project 5 :: จับกระป๋องใส่กระเป๋า


พรุ่งนี้ว่าจะหยิบถุงผ้าที่มีอยู่เกินครึ่งโหลไปใช้ในงานสัปดาห์หนังสือสักใบ...


ปกติผมจะแบกกระเป๋าเป้ใบเขื่องพอสมควร ข้างขวาเหน็บร่ม ข้างซ้ายเหน็บกระบอกน้ำ ทั้งสองอย่างนี่กลายเป็นของสำคัญตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจจะตั้งแต่เด็กที่เวลาไปโรงเรียนแม่จะให้หิ้วกระเป๋านักเรียนข้างนึง หิ้วถุงผ้าอีกข้างนึง ในนั้นมีอุปกรณ์แปรงฟัน ขวดน้ำ และร่มพร้อมสรรพ แรกๆก็มีเพื่อนๆชอบล้อว่า เด็กอนามัย แต่หลังๆก็ชิน...แถมรู้สึกดีซะอีกที่ครูชอบเอ่ยถึงในฐานะเด็กอนามัยของห้อง


เรื่องของเรื่องก็คือ...(มีหลายเรื่องมาประจวบเหมาะกันพอดี) ในวันที่หยิบถุงผ้ากะว่าจะเอามาใช้ กระป๋องน้ำที่จะเอาใส่ลงไปมันปิดฝาได้ไม่แน่น วางตั้งได้อย่างเดียวไม่งั้นน้ำจะหก ปัญหาคือถุงผ้าเฉยๆมันตั้งไม่ได้ด้วยสิ ก็เลยคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา... ทำไมไม่ทำถุงผ้าให้มันตั้งได้ล่ะ


เหลือบไปเห็นกล่องพัสดุที่มีคนส่งมานานแล้ว คิดอยู่ว่าสักวันมันจะมีประโยชน์ ก็เลยลองเอามาปะๆให้แข็งแรงขึ้นหน่อย แล้วตัดๆดู กะว่าจะเอาไปวางเป็นโครงในถุง ...ซึ่งก็บังเอิญกว้างได้ขนาดพอดี แต่หน้าตัดสั้นไปหน่อย


เห็นดังนั้นก็เลยทำ ช่องใส่กระป๋องน้ำ ด้วยซะเลย โดยเอาลวดมาวัดขนาดกระป๋อง เหลือปลายสองข้างไว้ให้ปักลงไปกับกล่องแล้วดัดปลายล็อคไว้ให้แน่น



ยังเหลือร่มอยู่อีกอย่าง... ก็ทำแบบเดียวกัน แต่ช่องใส่ร่มที่เป็นลวดเพียวๆนั้นดึงเข้าออกลำบากพอควร (ลองแล้ว) ก็เลยควรจะมี ถุงร่ม สักหน่อย




ใช้ถุงพลาสติกที่เก็บๆไว้นี่แหละมาสวมลงไปในวงลวด แล้วผูกหูถุงล็อคไว้ให้ถุงไม่เลื่อนหลุดง่ายๆ ก็จะได้ถุงร่มหน้าตาแบบนี้



ไส้ในทั้งอันที่จะยัดลงไปในถุงผ้าเป็นแบบนี้ครับ






ดูเก้งก้างนิดหน่อย แต่ใส่ลงไปแล้วพอดีถุงเด๊ะเลย (ถ้าไปใช้กับถุงผ้าของแต่ละคนก็ต้องแล้วแต่ขนาดถุงและกล่องที่มีนะครับ)


เสร็จแล้วถุงผ้าของผมก็พร้อมใส่ร่ม กระป๋องน้ำ และมีที่เหลือสำหรับใส่หนังสือเล่มเล็กที่อยากได้วันพรุ่งนี้ โดยไม่แย่งที่เบียดเสียดกัน นอกจากนั้นถุงผ้าสอดไส้ใบนี้ยัง...ตั้งได้ด้วยครับ

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Project 4 :: ทำร่มให้กาง

วันนี้อยู่ดีๆนึกไปเปิดลังที่เก็บของไม่ใช้แล้ว...เจอร่มสภาพดีๆสองคัน ลองกางดูก็ระลึกได้ว่าเป็นร่มของผมเอง เหตุที่มันไปกองอยู่ในลังก็เพราะเมื่อหน้าฝนครั้งที่แล้วผมทะเลาะกับมันแรงไปหน่อย จนก้านอะลูมิเนียมที่เป็นโครงด้านในมันเกิดหักขึ้นมา ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไงกับมันต่อดี ทนใช้ไปหนึ่งวันแล้วก็มาหาซื้อเอาใหม่เพราะหาไม่ยาก ราคาไม่แพง

พอดีว่าที่ห้องมีของที่น่าจะใช้ประโยชน์ในการซ่อม “ร่มโครงหัก” นี่ได้พอดี เป็นลวดเหล็กที่ซื้อมาทำอะไรสักอย่างจำไม่ได้แล้ว จำได้แค่ว่าราคาถูกแสนถูก มัดละหกสิบบาท ได้ลวดยาวหลายสิบเมตร



หน้าตาบาดแผลที่หักเป็นแบบนี้ครับ และส่วนใหญ่ร่ม (ถูกๆ) ที่เจ๊งก็จะเข้าอาการนี้ทั้งนั้น ส่วนที่บอบบางที่สุดคือข้อต่อระหว่างซี่ๆที่ต่อออกมาจากยอดร่ม (เดี๋ยวผมจะเรียกว่า “ซี่โครง” ของร่ม) และซี่ๆที่ต่อออกมาจากส่วนที่เอาไว้ใช้ดันตอนกางร่ม ส่วนข้อต่อจะบางมากและมักจะบิดเอาได้ง่ายๆ ถ้าบิดแรงๆหรือบิดไปบิดมาซ้ำๆก็จะหักเลยอย่างที่เห็นครับ

ก่อนอื่นเราต้องทำการ “ปฐมพยาบาล” มันซะก่อน ซี่โครงที่ขาด (อู้ยยย..น่ากลัว) เราก็จะ “เข้าเฝือก” โดยเฝือกมีหน้าตาเป็นแบบนี้ วิธีทำก็คือตัดลวดมาให้ยาวสัก 15 ซม. ใช้คีมพับทบเป็นสี่ส่วน ทบตรงกลางไม่ต้องบีบมากนัก ปล่อยให้มนๆไว้ แล้วดัดปลายโค้งขึ้นมาสักหน่อย ให้รับกับโครงร่ม



วิธีเข้าเฝือกก็คือ...เอากระดาษกาวพัน อ๊ะ...ง่ายปานนั้น พันให้ลวดครึ่งนึงอยู่กับปลายข้างหนึ่งที่หัก และอีกครึ่งอยู่กับปลายอีกข้าง ก็จะพบว่าซี่โครงที่หักพอจะต่อกันได้แต่ยังโยกๆคลอนๆอยู่ เพราะอันนี้เป็นแค่เฝือกอ่อน แต่ยังมีเฝือกแข็งข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง



เฝือกแข็งหน้าตาคล้ายๆกัน แต่มีปีกด้วย ดูแล้วคล้ายๆนกเพ็นกวิน!! หน้าที่ของปีกคือทำให้ไม่ห่อตัว...เอ๊ย...เป็นตัวพันมัดตัวมันเองให้แน่น



เวลาใส่เฝือกนอก ให้ส่วนโค้งตรงหัวเพ็นกวินคร่อมซี่โครงเหมือนที่ใส่กับเฝือกอ่อนข้างในเลยครับ ให้ตัวนกขนานไปกับซี่โครง แล้วเอากระดาษกาวพันไว้รอบนึงก่อน ช่วยให้ไม่ต้องจับไว้ตลอดเวลา จากนั้นใช้ปีกที่สองข้างพันๆๆลวดให้ทับลงไปบนกระดาษกาวเลย ตอนพันนี่ใช้คีมช่วยจับ ดึง ประคอง และบีบให้แน่นครับ




อาจจะต้องมีทักษะการใช้คีมพอสมควร ที่ควรระวังมากคือปลายลวดจะไปเกี่ยวผ้าร่มขาด ควรม้วนให้โค้งสักนิดก่อนครับ จะได้ไม่มีส่วนที่คมๆไปเกี่ยวอะไร



พันเสร็จแน่นดีจะมีหน้าตาประมาณนี้ สังเกตว่าส่วนที่เคยเป็น “ข้อต่อ” กับอีกชิ้นนึงนั้นใช้การไม่ได้แล้ว เราเลยต้องทำข้อต่อขึ้นมาใหม่ หน้าตาเป็นบ่วงเล็กๆ ร้อยเข้าไปในอีกชิ้นนึงแทนครับ


และแล้วร่มที่ถูกลืมของผมก็กลับมากางได้อีกครั้ง...สำเร็จแล้ว...เย้...



ปล..เกือบลืมบอกไปว่า ร่มที่ดามซี่โครงไว้แบบนี้ อาจจะหุบเก็บลำบากหน่อยนะครับ ถ้าลวดอยู่ไม่ถูกที่หรือมัดใหญ่เกินไปมันจะหุบลงจนสุดเหมือนเดิมไม่ได้ อย่าไปฝืนมันนะครับ อาจต้องลองขยับๆดู หรือไม่ก็...ใช้เป็นร่มที่ไม่ต้องพับเก็บใส่ซองก็ได้ครับ คิดในแง่ดีว่า..หยิบใช้สะดวกขึ้นอีกต่างหาก

Project 3 :: รองเท้า 9 ชีวิต


รองเท้าแตะคู่ใจของผมที่ใช้มาสามปีกว่า ถ้านับจริงๆก็เกิดอาการ เสียชีวิต ไปมากกว่า 9 ครั้ง แล้ว แต่ไม่รู้ทำไม แม้จะสภาพทรุดโทรมปานนี้แล้ว เวลาเดินก็ลื่นๆเกาะพื้นเรียบๆไม่ค่อยอยู่ แต่ผมยังตัดใจโยนทิ้งไม่ลงซะที อาจเป็นเพราะเราอยู่ด้วยกันมานาน ทำอะไรก็รู้ใจกันตลอด...

อาการ ป่วยอย่างเดียวที่พบเจอก็คือ แผ่นฟองน้ำที่หุ้มเท้า กับพื้นรองเท้ามันแยกออกจากกัน อาจจะเป็นเพราะเท้าเจ้าของนั้นบานไปสักหน่อย ประกอบกับที่ใช้งานเจ้าคู่นี้หนักมาก ใช้เดินทีละหลายๆกิโล รองเท้าเลยเกิดอาการน้อยใจให้เห็นอยู่บ่อยๆ

หลังจากลองมาหลายวิธี
ตั้งแต่ใช้กาวติด เจาะรูเอาลวดมัดไว้ เอาเทปกาวมาพัน ฯลฯ ก็พบว่า วิธีที่ทนทานที่สุด (และดูดีที่สุดด้วย) คือหาตะปูควงมาขันยึดไว้

วิธีนี้จะได้ผลดีถ้าเป็นรองเท้าฟองน้ำที่เนื้อแข็งๆหน่อยนะครับ ตะปูควงยิ่งยาวยิ่งดี

เวลาขันก็ค่อยๆกดลงไปในแนวตรง อย่าให้ปลายยื่นออกมาข้างบนและล่าง (ไม่อย่างนั้นจะทิ่มเท้าหรือไม่ก็ทิ่มพื้น) ขันไปให้สุดเป็นอันเสร็จพิธีครับ

...แล้วรองเท้าของเราก็จะมีชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง...



Project 2 :: แปรงสีฟันใหม่

ฟังจากโฆษณาทั้งหลายแหล่...ทันตแพทย์แนะนำให้เราใช้แปรงสีฟันอันละไม่เกิน 3 เดือน เข้าใจว่าเป็นระยะที่ขนแปรงบานได้ที่ ซึ่งถ้าขืนใช้ต่อไปอาจแปรงได้ไม่ดีเท่าที่ควร และอาจส่งผลต่อสุขภาพปากของเรา ทำให้ต้องวิ่งหาหมอฟันอยู่เนืองๆ


สมมุติถ้าเราแค่รู้สึกว่าขนแปรงบานๆเท่านั้นที่เป็นปัญหา (อาจจะครบ 3 เดือนหรือยังก็ไม่รู้ ถ้าเกิดคิดมากเรื่องเวลา) ครั้นจะไปดัดให้มันตรงก็คงทำลำบาก ตามแบบฉบับของคนเสียดายของ อยากชวนมาลองทำวิธีของผมดู

เวลาแปรงสีฟันมันบาน ถ้านั่งพิจารณามันสักหน่อยจะพบว่ามันบานแบบโค้งออกจากตรงกลาง แปลว่าตรงโคนขนแปรงก็ยังไม่ค่อยบานมากนัก ส่วนที่บานจริงๆคือค่อนมาทางปลายๆต่างหาก

วิธีทำง่ายมากเลย แค่เอากรรไกรมาเล็มตรงปลายๆขนแปรงทุกเส้นออกไป เล็มออกนิดเดียวพอนะครับ เราแค่จะลดความบานของมัน ไม่ได้ต้องตัดให้เหลือแค่ตรงๆเหมือนของใหม่ เทคนิคคือ...ค่อยๆตัดทีละกระจุกเล็กๆ ขยับปลายกรรไกรบ่อยๆ ไม่ใช่แง้บทีเดียวจบนะครับ ไม่งั้นมันจะเหลือยาวไม่เท่ากัน




ก่อนเอาไปใช้ใหม่ ก็จัดการล้างซะก่อน (เยอะๆเลย) เพราะเศษขนแปรงที่ตัดออกเมื่อกี้นี้อาจร่วงลงไปอยู่ในหัวแปรงได้ (มันลงแน่ๆ) รวมทั้งเอาคราบน้ำมัน (ที่อาจจะมีอยู่) ที่กรรไกรออกไปด้วย ด้วยเทคนิคนี้เราจะได้แปรง (เกือบ)ใหม่ ซึ่งช่วยให้ใช้ต่อได้อีกสักพัก ก่อนปลดประจำการไปทำอย่างอื่น



ของ แถมนะครับ ยาสีฟันหมดพอดี ถ้าเริ่มรู้สึกว่าบีบหลอดเท่าไหร่ก็ไม่ออกแล้ว ลองเอากรรไกรมาตัดชำแหละหลอดดู ตรงใกล้ๆปากหลอดที่เป็นวงแข็งๆนั่นแหละเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์มาก มียาสีฟันเหลือพอให้ใช้แปรงได้ไปอีก 2-3 ครั้งทีเดียว

Project 1 :: ปากกากระสือ

D.I.Y. : Do It Yourself เป็นชื่อของสิ่งประดิษฐ์ การซ่อมแซม รวมไปถึงแนวคิด (และอีกหลายอย่างมากกว่านั้น) ซึ่งเน้นการ "ทำเอง" เป็นหลัก


พอดีผมเองเป็นคนชอบทำของพัง :-( อยู่เรื่อย...บางทีก็ค่อนข้างเสียดายของที่ยังใช้ไม่คุ้มเลย แต่ดันพังไปก่อนเวลาอันควร (อันเนื่องมาจากการผลิตแบบ mass) ก็เลยค่อนข้างจะมีภาระรับผิดชอบในการทำให้มันกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม หรือให้พอใช้ได้คล้ายๆของเดิม ทำอยู่สักพักก็รู้สึกว่าเริ่มมีเยอะแฮะ...เอามาเขียนแบ่งกันดูดีกว่า


ตอนที่ 1. ปากกากระสือ

ใครที่กลัวผีอาจจะอยากเปลี่ยนชื่อเรื่องสักหน่อย แต่ผมว่ามันสื่อถึงกระบวนการซ่อมปากกาแบบนี้ได้ดีมากเลย เกริ่นคร่าวๆก่อนว่าปากกากับกระสือมันเกี่ยวกันตรงไหน อย่างนี้ครับ ปากกาเนี่ยมันจะมีส่วนปลอก ตัว หัว แล้วก็ไส้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หัวกับไส้ที่อยู่ติดกันมักจะถอดออกมาจากตัวได้ ตรงนี้แหละคือส่วนที่เหมือนกระสือ (แถไปได้เนอะ) ส่วนว่าเกี่ยวกันแล้วเอาไปทำอะไร กรุณาอ่านต่อไป

ผม เป็นคนนึงที่ชอบใช้ปากกามากกว่าดินสอ เพราะเขียนอะไรแล้วไม่ค่อยจะลบ จะใช้วิธีขีดฆ่าทิ้งซะมากกว่า (ดูเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่) เพราะมันมีร่องรอยว่าเราเคยทดอะไรลงไปเผื่อว่าจะอยากดึงกลับมาใช้ ทีนี้ไอ้เจ้าปากกาหมึกแห้งพวกนี้ ทุกยี่ห้อจะเป็นเหมือนๆกันคือ มักจะใจเสาะ หัวแตกได้ง่ายมาก เวลาทำร่วงในบางท่าทาง โดยเฉพาะเวลาหมุนเล่นกับมือ ถ้าด้ามนั้นบังเอิญเขียนดี หมึกเข้มกำลังดี ตกทีนึงก็จะหัวใจสลายไปสักพัก แล้วก็ต้องมานั่งลุ้นว่า ยังใช้ได้ไหมหว่า

นานๆ เข้าผมก็มีปากกาหัวแตก หัวหลุด หัวบุบ ฯลฯ อยู่เยอะแยะเลย บางด้ามใช้ได้สองวัน หมึกยังเต็มหลอด หัวแตกซะแล้ว ถ้าพอดีว่าตอนนั้นด้ามที่ใช้อยู่เกิดหมึกหมด แล้วอยากจะชุบชีวิตให้มันเขียนได้ต่อ ผมมีวิธีครับ เพราะปากกานั้นเก่งกว่ากระสือ คือมันแยกหัวกับไส้ออกจากกันได้ แล้วเอามาสลับคู่กันได้อีกด้วย ก็เลยออกมาเป็นคำตอบของปัญหาอันนี้

ปากกาในท้องตลอดน่าจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือพวกแรก ถอดอะไรไม่ได้เลย กับอีกพวกหนึ่งคือถอดไส้ออกมาได้ ซึ่งถ้าถอดได้ก็จะมีวิธีถอดแล้วแต่ว่ามันประกอบเข้าไว้ยังไง

เอาเป็นว่าวิธีถอดคงหาหนทางจัดการกับมันจนออกมาได้นะครับ


มา ถึงขั้นตอนสำคัญ คือการถอดหัวลูกลื่นออกจากไส้หมึก ก่อนอื่นต้องมีคีม เล็กหรือใหญ่ได้ทั้งนั้น เวลาจะถอด มือนึงจับที่ไส้ปากกา อีกมือใช้คีมจับที่หัวลูกลื่น แล้วดึงออกจากกัน เอ้า...ดึง...

พอดึงออกมาแล้ว หาที่วางดีๆนะครับ ห้ามวางตั้งเพราะเลือดจะไหลนองเลอะพื้น ก็ทำแบบนี้กับอีกด้ามนึงที่จะเปลี่ยนหัวกัน ก็จะได้สองหัว สองไส้

ตอนประกอบเข้าด้วยกันก็จับคู่หัวกับไส้ที่ยังใช้ได้ จากนั้นสวมหัวลงไป กดให้แน่นสุดดี เป็นอันเสร็จ


ลอง เขียนดูสักพัก หมึกอาจจะขาดๆหายๆได้ เพราะตอนใส่หัวลงไปมีฟองอากาศอยู่ วิธีแก้คือ ฝนหัวกับกระดาษ พร้อมกันนั้นก็เป่าอัดลมลงไปทางปลายไส้ด้วย สักพักก็จะใช้ได้เหมือนด้ามใหม่

คราว หน้าที่มีปากกาหัวแตกหรือหมึกหมด ลองใช้วิธีนี้ดูนะครับ คงช่วยให้เราใช้หมึกทุกหยดคุ้มค่ากว่าเดิม ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะอีกต่อไป