วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
Project 8 :: รดน้ำต้นไม้ (อีกรอบ)
ก็เลยหาวิธีใหม่ซึ่งใช้ขวดน้ำพลาสติกเหมือนเดิม และทำง่ายกว่าเดิมอีก
รอบนี้เปลี่ยนจากระบบน้ำหยดมาเป็น "น้ำซึม" ครับ
หลักการของมันคือ (จำได้ว่าเรียนตอนม.ต้น) การดูดซึมผ่านท่อเล็กๆ
นึกถึงฟองน้ำหรือกระดาษทิชชูน่ะครับ เวลาเอาปลายข้างหนึ่งจุ่มน้ำ น้ำมันจะวิ่งขึ้นมาได้ระดับนึง
วิธีการง่ายมาก แค่เอาขวดน้ำใส่น้ำให้เต็ม ไปตั้งไว้ข้างๆ กระถางต้นไม้ที่จะให้น้ำ ให้ปากขวดสูงกว่าขอบกระถางนิดนึงกำลังดี
จากนั้นเอาทิชชูพับเป็นเส้นๆ ถ้าดึงมายาวๆหน่อยก็จะดีครับ เอาปลายข้างนึงไปจุ่มในขวด อีกข้างหนึ่งโยงมาที่โคนต้นไม้
นั่งรอดูมันสักพัก จะพบว่าน้ำเริ่มซึมจากขวดออกมาที่โคนต้นไม้ครับ น้ำจะไหลออกมาเรื่อยๆจนกว่าระดับน้ำจะต่ำจนทิชชูไม่สามารถดึงขึ้นมาให้พ้นปากขวดได้ ซึ่งถึงตอนนั้นก็ควรจะต้องเติมน้ำใหม่กันแล้วครับ
วิธีควบคุมปริมาณน้ำทำให้โดยปรับขนาดเส้นของทิชชูที่ให้น้ำซึม ยิ่งเส้นใหญ่น้ำยิ่งไหลมาก และสิ่งที่ตามมาคือน้ำจะหมดเร็วด้วย ต้องลองปรับให้เหมาะสมดูเองครับ
มีเทคนิคนิดหน่อยถ้าจะใช้วิธีนี้แล้วไม่อยากเติมน้ำบ่อยๆ คือแนะนำให้หาภาชนะปากกว้างครับ ไม่ต้องลึกแต่ให้บริเวณปากจุน้ำได้เยอะๆเป็นพอ
Project 7 :: ร้อยเชือกให้กางเกง
เวลาใส่เสร็จแล้วโยนตู้มลงเครื่องซักผ้า ปั่นไปปั่นมาปลายเชือกผูกเอวที่ร้อยอยู่ดันผลุบเข้าไปข้างในซะงั้น
ทีนี้จะใส่โดยมีเชือกอยู่ข้างเดียวก็กระไรอยู่ บางตัวยางก็ยืดจนเกาะเอวไม่ค่อยอยู่แล้ว ก็อาจจะกลายสภาพเป็นกางเกงเอาไว้ใส่นอนโดยปริยาย
วันนี้ผมเอาวิธี "ร้อยเชือก" มาฝากครับ เผื่อว่าใครเจอปัญหานี้อยู่เหมือนกัน
ไอเดียก็คือ เชือกมันอ่อนใช่ไหม เราจะมาทำปลายเชือกให้มันแข็งขึ้น
พูดซะดูดีเชียว จริงๆก็คือทำ "เข็ม" ใหญ่ๆติดไว้ที่ปลายเชือกนั่นเอง แล้วก็ให้เข็มเป็นตัวกระดึ๊บๆซอกซอนเข้าไปในช่องร้อยเชือก ให้เชือกค่อยๆวิ่งตามเข้าไป
เข็มหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ ตัวต้นแบบใช้ลวดอะลูมิเนียม ปอกมาจากสายไฟเส้นใหญ่ที่เขาไม่ใช้แล้ว
แต่ถ้าจะให้หาง่ายๆก็ลวดหนีบกระดาษเลยครับ อาจจะสั้นหน่อยแต่ใช้ได้เหมือนกัน หรือจะให้ดีกว่านั้นก็หาลวดเหล็กยาวกว่านั้นหน่อย สัก 15-20 ซม.กำลังดี
ได้ลวดมาแล้วก็ทบครึ่ง เว้นตรงรอยพับให้โค้งๆหน่อยเพราะจะร้อยเชือกเข้าไป
ร้อยเชือกแล้วได้หน้าตาแบบนี้ครับ
จากนั้นก็เริ่มมุดรู ดึง "เข็มยักษ์"ของเราให้ค่อยๆเคลื่อนไปข้างหน้า
มีใครเคยเห็นไส้เดือนมันกระดึ๊บๆไหมครับ ทำอย่างนั้นเด๊ะเลย
ถ้านึกภาพไม่ออก ลองทำตามนี้ดูครับ ตอนแรกร้อยให้เข็มเข้าไปอยู่ในช่องให้มิดก่อน
- จับโคนเข็ม รูดผ้า (หรือยางยืดนั่นเอง)ให้ย่นลงมาทางโคนเข็ม
- จากนั้นจับปลายเข็ม แล้วรูดผ้าที่ย่นๆออกไปทางโคนเข็ม เข็มก็จะเคลื่อนไปข้างหน้าครับ
กระดึ๊บๆไปสักพักอาจจะพบว่าติดอะไรบางอย่าง บางทีมันจะติดตะเข็บที่เย็บซ่อนไว้ในผ้าครับ พยายามดึงต่อไปเดี๋ยวก็หลุด
ทำไปจนเข็มมาโหล่ที่อีกฝั่งหนึ่งของรู (กางเกงบางตัวใช้รูเดียวกัน บางตัวมีสองรู)ก็รูดเชือกขึ้นมาครับ
คราวนี้มัดปลายเชือกให้โตๆเป็นลูกตุ้มไปเลย จะได้รับประกันว่ามันจะไม่หลุดอีก
เฮ้อ...เสร็จซะที
วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552
Project 6 :: รดน้ำต้นไม้
พอดีเคยได้ยินระบบน้ำหยดมาก่อน เดาว่ามันคงคล้ายๆกระปุกน้ำเกลือ แต่อาจจะไม่ยุ่งยากซับซ้อนปานนั้น เลยเอาของที่ไม่ได้ใช้คือขวดน้ำพลาสติกกับปากกาที่หมึกหมดแล้วมาลองประกอบกันดู
ตอนแรกตัดท้ายทิ้งก่อนครับ ถ้าจะให้สวยก็เอาฉลากข้างขวดออกด้วย เสร็จแล้วใช้คัตเตอร์กรีดฝาขวดให้เป็นรอยทะลุ รอยเล็กๆก็พอครับ ไม่งั้นน้ำจะไหลเร็วเกิน
กรีดแล้วมาลองใส่น้ำดูว่าหยดเร็วไป ช้าไป ประการใด ถ้าเร็วไปก็เอาเทปกาวแปะรูด้านในให้แคบลงหน่อย
ได้เรื่องแล้วก็เอาเทปกาวมาพันปากกากับขวดเข้าด้วยกัน ให้ปลายแหลมของปากกาหันลงพื้นนะครับ เอาไว้ปักกับดินในกระถางต้นไม้ พันๆๆๆจนแน่นดี เป็นอันใช้ได้
วิธีใช้ก็คือเอาไปปักกับดินข้างๆต้นไม้ แล้วเติมน้ำลงไป น้ำก็จะค่อยๆหยดลงที่โคนต้นไม้ นานจนกว่าน้ำจะหมดขวด
จริงๆหาวิธีกำจัดขวดน้ำกับปากกาหมึกหมดมานานแล้วเหมือนกัน คิดว่าจะเอาไปรดน้ำต้นไม้นี่แหละ แต่พอดีที่ผ่านมาต้นไม้ยังงอกงามดีเพราะรดน้ำทุกวัน ก็เลยไม่ได้ลงมือทำสักที ในที่สุดขวดน้ำพลาสติกที่เขาไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ซ้ำก็ยังเอาไปให้ต้นไม้กินน้ำได้เหมือนกันนะ แต่ทางที่ดีหันมาเลิกใช้ขวดพลาสติก พกกระติกน้ำกันดีกว่าครับ
วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552
Project 5 :: จับกระป๋องใส่กระเป๋า
พรุ่งนี้ว่าจะหยิบถุงผ้าที่มีอยู่เกินครึ่งโหลไปใช้ในงานสัปดาห์หนังสือสักใบ...
ปกติผมจะแบกกระเป๋าเป้ใบเขื่องพอสมควร ข้างขวาเหน็บร่ม ข้างซ้ายเหน็บกระบอกน้ำ ทั้งสองอย่างนี่กลายเป็นของสำคัญตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจจะตั้งแต่เด็กที่เวลาไปโรงเรียนแม่จะให้หิ้วกระเป๋านักเรียนข้างนึง หิ้วถุงผ้าอีกข้างนึง ในนั้นมีอุปกรณ์แปรงฟัน ขวดน้ำ และร่มพร้อมสรรพ แรกๆก็มีเพื่อนๆชอบล้อว่า “เด็กอนามัย” แต่หลังๆก็ชิน...แถมรู้สึกดีซะอีกที่ครูชอบเอ่ยถึงในฐานะเด็กอนามัยของห้อง
เรื่องของเรื่องก็คือ...(มีหลายเรื่องมาประจวบเหมาะกันพอดี) ในวันที่หยิบถุงผ้ากะว่าจะเอามาใช้ กระป๋องน้ำที่จะเอาใส่ลงไปมันปิดฝาได้ไม่แน่น วางตั้งได้อย่างเดียวไม่งั้นน้ำจะหก ปัญหาคือถุงผ้าเฉยๆมันตั้งไม่ได้ด้วยสิ ก็เลยคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา... ทำไมไม่ทำถุงผ้าให้มันตั้งได้ล่ะ
เหลือบไปเห็นกล่องพัสดุที่มีคนส่งมานานแล้ว คิดอยู่ว่าสักวันมันจะมีประโยชน์ ก็เลยลองเอามาปะๆให้แข็งแรงขึ้นหน่อย แล้วตัดๆดู กะว่าจะเอาไปวางเป็นโครงในถุง ...ซึ่งก็บังเอิญกว้างได้ขนาดพอดี แต่หน้าตัดสั้นไปหน่อย
เห็นดังนั้นก็เลยทำ “ช่องใส่กระป๋องน้ำ” ด้วยซะเลย โดยเอาลวดมาวัดขนาดกระป๋อง เหลือปลายสองข้างไว้ให้ปักลงไปกับกล่องแล้วดัดปลายล็อคไว้ให้แน่น
ยังเหลือร่มอยู่อีกอย่าง... ก็ทำแบบเดียวกัน แต่ช่องใส่ร่มที่เป็นลวดเพียวๆนั้นดึงเข้าออกลำบากพอควร (ลองแล้ว) ก็เลยควรจะมี “ถุงร่ม” สักหน่อย
ใช้ถุงพลาสติกที่เก็บๆไว้นี่แหละมาสวมลงไปในวงลวด แล้วผูกหูถุงล็อคไว้ให้ถุงไม่เลื่อนหลุดง่ายๆ ก็จะได้ถุงร่มหน้าตาแบบนี้
ไส้ในทั้งอันที่จะยัดลงไปในถุงผ้าเป็นแบบนี้ครับ
ดูเก้งก้างนิดหน่อย แต่ใส่ลงไปแล้วพอดีถุงเด๊ะเลย (ถ้าไปใช้กับถุงผ้าของแต่ละคนก็ต้องแล้วแต่ขนาดถุงและกล่องที่มีนะครับ)
เสร็จแล้วถุงผ้าของผมก็พร้อมใส่ร่ม กระป๋องน้ำ และมีที่เหลือสำหรับใส่หนังสือเล่มเล็กที่อยากได้วันพรุ่งนี้ โดยไม่แย่งที่เบียดเสียดกัน นอกจากนั้นถุงผ้าสอดไส้ใบนี้ยัง...ตั้งได้ด้วยครับ
วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552
Project 4 :: ทำร่มให้กาง
พอดีว่าที่ห้องมีของที่น่าจะใช้ประโยชน์ในการซ่อม “ร่มโครงหัก” นี่ได้พอดี เป็นลวดเหล็กที่ซื้อมาทำอะไรสักอย่างจำไม่ได้แล้ว จำได้แค่ว่าราคาถูกแสนถูก มัดละหกสิบบาท ได้ลวดยาวหลายสิบเมตร
หน้าตาบาดแผลที่หักเป็นแบบนี้ครับ และส่วนใหญ่ร่ม (ถูกๆ) ที่เจ๊งก็จะเข้าอาการนี้ทั้งนั้น ส่วนที่บอบบางที่สุดคือข้อต่อระหว่างซี่ๆที่ต่อออกมาจากยอดร่ม (เดี๋ยวผมจะเรียกว่า “ซี่โครง” ของร่ม) และซี่ๆที่ต่อออกมาจากส่วนที่เอาไว้ใช้ดันตอนกางร่ม ส่วนข้อต่อจะบางมากและมักจะบิดเอาได้ง่ายๆ ถ้าบิดแรงๆหรือบิดไปบิดมาซ้ำๆก็จะหักเลยอย่างที่เห็นครับ
ก่อนอื่นเราต้องทำการ “ปฐมพยาบาล” มันซะก่อน ซี่โครงที่ขาด (อู้ยยย..น่ากลัว) เราก็จะ “เข้าเฝือก” โดยเฝือกมีหน้าตาเป็นแบบนี้ วิธีทำก็คือตัดลวดมาให้ยาวสัก 15 ซม. ใช้คีมพับทบเป็นสี่ส่วน ทบตรงกลางไม่ต้องบีบมากนัก ปล่อยให้มนๆไว้ แล้วดัดปลายโค้งขึ้นมาสักหน่อย ให้รับกับโครงร่ม
วิธีเข้าเฝือกก็คือ...เอากระดาษกาวพัน อ๊ะ...ง่ายปานนั้น พันให้ลวดครึ่งนึงอยู่กับปลายข้างหนึ่งที่หัก และอีกครึ่งอยู่กับปลายอีกข้าง ก็จะพบว่าซี่โครงที่หักพอจะต่อกันได้แต่ยังโยกๆคลอนๆอยู่ เพราะอันนี้เป็นแค่เฝือกอ่อน แต่ยังมีเฝือกแข็งข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง
เฝือกแข็งหน้าตาคล้ายๆกัน แต่มีปีกด้วย ดูแล้วคล้ายๆนกเพ็นกวิน!! หน้าที่ของปีกคือทำให้ไม่ห่อตัว...เอ๊ย...เป็นตัวพันมัดตัวมันเองให้แน่น
เวลาใส่เฝือกนอก ให้ส่วนโค้งตรงหัวเพ็นกวินคร่อมซี่โครงเหมือนที่ใส่กับเฝือกอ่อนข้างในเลยครับ ให้ตัวนกขนานไปกับซี่โครง แล้วเอากระดาษกาวพันไว้รอบนึงก่อน ช่วยให้ไม่ต้องจับไว้ตลอดเวลา จากนั้นใช้ปีกที่สองข้างพันๆๆลวดให้ทับลงไปบนกระดาษกาวเลย ตอนพันนี่ใช้คีมช่วยจับ ดึง ประคอง และบีบให้แน่นครับ
อาจจะต้องมีทักษะการใช้คีมพอสมควร ที่ควรระวังมากคือปลายลวดจะไปเกี่ยวผ้าร่มขาด ควรม้วนให้โค้งสักนิดก่อนครับ จะได้ไม่มีส่วนที่คมๆไปเกี่ยวอะไร
พันเสร็จแน่นดีจะมีหน้าตาประมาณนี้ สังเกตว่าส่วนที่เคยเป็น “ข้อต่อ” กับอีกชิ้นนึงนั้นใช้การไม่ได้แล้ว เราเลยต้องทำข้อต่อขึ้นมาใหม่ หน้าตาเป็นบ่วงเล็กๆ ร้อยเข้าไปในอีกชิ้นนึงแทนครับ
และแล้วร่มที่ถูกลืมของผมก็กลับมากางได้อีกครั้ง...สำเร็จแล้ว...เย้...
ปล..เกือบลืมบอกไปว่า ร่มที่ดามซี่โครงไว้แบบนี้ อาจจะหุบเก็บลำบากหน่อยนะครับ ถ้าลวดอยู่ไม่ถูกที่หรือมัดใหญ่เกินไปมันจะหุบลงจนสุดเหมือนเดิมไม่ได้ อย่าไปฝืนมันนะครับ อาจต้องลองขยับๆดู หรือไม่ก็...ใช้เป็นร่มที่ไม่ต้องพับเก็บใส่ซองก็ได้ครับ คิดในแง่ดีว่า..หยิบใช้สะดวกขึ้นอีกต่างหาก
Project 3 :: รองเท้า 9 ชีวิต
รองเท้าแตะคู่ใจของผมที่ใช้มาสามปีกว่า ถ้านับจริงๆก็เกิดอาการ “เสียชีวิต” ไปมากกว่า 9 ครั้ง แล้ว แต่ไม่รู้ทำไม แม้จะสภาพทรุดโทรมปานนี้แล้ว เวลาเดินก็ลื่นๆเกาะพื้นเรียบๆไม่ค่อยอยู่ แต่ผมยังตัดใจโยนทิ้งไม่ลงซะที อาจเป็นเพราะเราอยู่ด้วยกันมานาน ทำอะไรก็รู้ใจกันตลอด...
อาการ ป่วยอย่างเดียวที่พบเจอก็คือ แผ่นฟองน้ำที่หุ้มเท้า กับพื้นรองเท้ามันแยกออกจากกัน อาจจะเป็นเพราะเท้าเจ้าของนั้นบานไปสักหน่อย ประกอบกับที่ใช้งานเจ้าคู่นี้หนักมาก ใช้เดินทีละหลายๆกิโล รองเท้าเลยเกิดอาการน้อยใจให้เห็นอยู่บ่อยๆ
หลังจากลองมาหลายวิธี
ตั้งแต่ใช้กาวติด เจาะรูเอาลวดมัดไว้ เอาเทปกาวมาพัน ฯลฯ ก็พบว่า วิธีที่ทนทานที่สุด (และดูดีที่สุดด้วย) คือหาตะปูควงมาขันยึดไว้
วิธีนี้จะได้ผลดีถ้าเป็นรองเท้าฟองน้ำที่เนื้อแข็งๆหน่อยนะครับ ตะปูควงยิ่งยาวยิ่งดี
เวลาขันก็ค่อยๆกดลงไปในแนวตรง อย่าให้ปลายยื่นออกมาข้างบนและล่าง (ไม่อย่างนั้นจะทิ่มเท้าหรือไม่ก็ทิ่มพื้น) ขันไปให้สุดเป็นอันเสร็จพิธีครับ
...แล้วรองเท้าของเราก็จะมีชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง...
Project 2 :: แปรงสีฟันใหม่
สมมุติถ้าเราแค่รู้สึกว่าขนแปรงบานๆเท่านั้นที่เป็นปัญหา (อาจจะครบ 3 เดือนหรือยังก็ไม่รู้ ถ้าเกิดคิดมากเรื่องเวลา) ครั้นจะไปดัดให้มันตรงก็คงทำลำบาก ตามแบบฉบับของคนเสียดายของ อยากชวนมาลองทำวิธีของผมดู
เวลาแปรงสีฟันมันบาน ถ้านั่งพิจารณามันสักหน่อยจะพบว่ามันบานแบบโค้งออกจากตรงกลาง แปลว่าตรงโคนขนแปรงก็ยังไม่ค่อยบานมากนัก ส่วนที่บานจริงๆคือค่อนมาทางปลายๆต่างหาก
วิธีทำง่ายมากเลย แค่เอากรรไกรมาเล็มตรงปลายๆขนแปรงทุกเส้นออกไป เล็มออกนิดเดียวพอนะครับ เราแค่จะลดความบานของมัน ไม่ได้ต้องตัดให้เหลือแค่ตรงๆเหมือนของใหม่ เทคนิคคือ...ค่อยๆตัดทีละกระจุกเล็กๆ ขยับปลายกรรไกรบ่อยๆ ไม่ใช่แง้บทีเดียวจบนะครับ ไม่งั้นมันจะเหลือยาวไม่เท่ากัน
ก่อนเอาไปใช้ใหม่ ก็จัดการล้างซะก่อน (เยอะๆเลย) เพราะเศษขนแปรงที่ตัดออกเมื่อกี้นี้อาจร่วงลงไปอยู่ในหัวแปรงได้ (มันลงแน่ๆ) รวมทั้งเอาคราบน้ำมัน (ที่อาจจะมีอยู่) ที่กรรไกรออกไปด้วย ด้วยเทคนิคนี้เราจะได้แปรง (เกือบ)ใหม่ ซึ่งช่วยให้ใช้ต่อได้อีกสักพัก ก่อนปลดประจำการไปทำอย่างอื่น
ของ แถมนะครับ ยาสีฟันหมดพอดี ถ้าเริ่มรู้สึกว่าบีบหลอดเท่าไหร่ก็ไม่ออกแล้ว ลองเอากรรไกรมาตัดชำแหละหลอดดู ตรงใกล้ๆปากหลอดที่เป็นวงแข็งๆนั่นแหละเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์มาก มียาสีฟันเหลือพอให้ใช้แปรงได้ไปอีก 2-3 ครั้งทีเดียว
Project 1 :: ปากกากระสือ
D.I.Y. : Do It Yourself เป็นชื่อของสิ่งประดิษฐ์ การซ่อมแซม รวมไปถึงแนวคิด (และอีกหลายอย่างมากกว่านั้น) ซึ่งเน้นการ "ทำเอง" เป็นหลัก
พอดีผมเองเป็นคนชอบทำของพัง :-( อยู่เรื่อย...บางทีก็ค่อนข้างเสียดายของที่ยังใช้ไม่คุ้มเลย แต่ดันพังไปก่อนเวลาอันควร (อันเนื่องมาจากการผลิตแบบ mass) ก็เลยค่อนข้างจะมีภาระรับผิดชอบในการทำให้มันกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม หรือให้พอใช้ได้คล้ายๆของเดิม ทำอยู่สักพักก็รู้สึกว่าเริ่มมีเยอะแฮะ...เอามาเขียนแบ่งกันดูดีกว่า
ตอนที่ 1. ปากกากระสือ
ใครที่กลัวผีอาจจะอยากเปลี่ยนชื่อเรื่องสักหน่อย แต่ผมว่ามันสื่อถึงกระบวนการซ่อมปากกาแบบนี้ได้ดีมากเลย เกริ่นคร่าวๆก่อนว่าปากกากับกระสือมันเกี่ยวกันตรงไหน อย่างนี้ครับ ปากกาเนี่ยมันจะมีส่วนปลอก ตัว หัว แล้วก็ไส้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หัวกับไส้ที่อยู่ติดกันมักจะถอดออกมาจากตัวได้ ตรงนี้แหละคือส่วนที่เหมือนกระสือ (แถไปได้เนอะ) ส่วนว่าเกี่ยวกันแล้วเอาไปทำอะไร กรุณาอ่านต่อไป
ผม เป็นคนนึงที่ชอบใช้ปากกามากกว่าดินสอ เพราะเขียนอะไรแล้วไม่ค่อยจะลบ จะใช้วิธีขีดฆ่าทิ้งซะมากกว่า (ดูเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่) เพราะมันมีร่องรอยว่าเราเคยทดอะไรลงไปเผื่อว่าจะอยากดึงกลับมาใช้ ทีนี้ไอ้เจ้าปากกาหมึกแห้งพวกนี้ ทุกยี่ห้อจะเป็นเหมือนๆกันคือ มักจะใจเสาะ หัวแตกได้ง่ายมาก เวลาทำร่วงในบางท่าทาง โดยเฉพาะเวลาหมุนเล่นกับมือ ถ้าด้ามนั้นบังเอิญเขียนดี หมึกเข้มกำลังดี ตกทีนึงก็จะหัวใจสลายไปสักพัก แล้วก็ต้องมานั่งลุ้นว่า “ยังใช้ได้ไหมหว่า”
นานๆ เข้าผมก็มีปากกาหัวแตก หัวหลุด หัวบุบ ฯลฯ อยู่เยอะแยะเลย บางด้ามใช้ได้สองวัน หมึกยังเต็มหลอด หัวแตกซะแล้ว ถ้าพอดีว่าตอนนั้นด้ามที่ใช้อยู่เกิดหมึกหมด แล้วอยากจะชุบชีวิตให้มันเขียนได้ต่อ ผมมีวิธีครับ เพราะปากกานั้นเก่งกว่ากระสือ คือมันแยกหัวกับไส้ออกจากกันได้ แล้วเอามาสลับคู่กันได้อีกด้วย ก็เลยออกมาเป็นคำตอบของปัญหาอันนี้
ปากกาในท้องตลอดน่าจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือพวกแรก ถอดอะไรไม่ได้เลย กับอีกพวกหนึ่งคือถอดไส้ออกมาได้ ซึ่งถ้าถอดได้ก็จะมีวิธีถอดแล้วแต่ว่ามันประกอบเข้าไว้ยังไง
เอาเป็นว่าวิธีถอดคงหาหนทางจัดการกับมันจนออกมาได้นะครับ
มา ถึงขั้นตอนสำคัญ คือการถอดหัวลูกลื่นออกจากไส้หมึก ก่อนอื่นต้องมีคีม เล็กหรือใหญ่ได้ทั้งนั้น เวลาจะถอด มือนึงจับที่ไส้ปากกา อีกมือใช้คีมจับที่หัวลูกลื่น แล้วดึงออกจากกัน เอ้า...ดึง...
พอดึงออกมาแล้ว หาที่วางดีๆนะครับ ห้ามวางตั้งเพราะเลือดจะไหลนองเลอะพื้น ก็ทำแบบนี้กับอีกด้ามนึงที่จะเปลี่ยนหัวกัน ก็จะได้สองหัว สองไส้
ตอนประกอบเข้าด้วยกันก็จับคู่หัวกับไส้ที่ยังใช้ได้ จากนั้นสวมหัวลงไป กดให้แน่นสุดดี เป็นอันเสร็จ
ลอง เขียนดูสักพัก หมึกอาจจะขาดๆหายๆได้ เพราะตอนใส่หัวลงไปมีฟองอากาศอยู่ วิธีแก้คือ ฝนหัวกับกระดาษ พร้อมกันนั้นก็เป่าอัดลมลงไปทางปลายไส้ด้วย สักพักก็จะใช้ได้เหมือนด้ามใหม่